ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้จัดสัมมนาวิชาการประจำปี

เรื่อง “ยกเครื่องการศึกษาไทย : สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง” และรายงานให้ทราบว่าการศึกษาของไทยมีคุณภาพไม่ดีพอจึงก่อให้เกิดปัญหาในหลายแง่มุม โดยได้แสดงหลักฐานยืนยันความล้มเหลวของการศึกษาไทยนี้หลายประการ ดังต่อไปนี้ 
 
(1) สัดส่วนงบประมาณด้านการศึกษาต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 4% และต่องบประมาณรวมของไทยอยู่ที่ 20% สัดส่วนเหล่านี้ไม่ได้ต่ำกว่าของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน (2) เงินเดือนเฉลี่ยของครูโรงเรียนรัฐบาลก็เพิ่มขึ้นจากประมาณ 1.5 หมื่นบาท ในปี พ.ศ. 2544 เป็นประมาณ 2.4 หมื่นบาทในปี พ.ศ. 2553 หรือในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งถือว่าไม่น้อยเมื่อเทียบกับระดับราคาและอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ 
 
ข้อ (1) และ (2) นี้ แสดงให้เห็นชัดว่าไทยได้ลงทุนในการศึกษาไปไม่น้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ผลการเรียนซึ่งเป็นตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษาที่สำคัญกลับตกต่ำลง สวนทางกับทรัพยากรที่รัฐได้มอบให้แก่การศึกษา ดังเห็นได้จากผลคะแนนสอบของนักเรียนไทยไม่ว่าจะวัดจากข้อสอบมาตรฐานในประเทศ คือ O-NET หรือข้อสอบมาตรฐานระหว่างประเทศ เช่น Programme for International Student Assessment (PISA) และ Trends in International Mathematics and Science Study (TIMSS) ต่างก็มีแนวโน้มลดลงและอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านแทบทุกประเทศยกเว้นอินโดนีเซีย TDRI มีข้อสรุปว่า ปัญหาคุณภาพการศึกษาของไทยไม่ได้มีสาเหตุมาจากการขาดแคลนทรัพยากรที่จำเป็น แต่เกิดจากการขาด “ประสิทธิภาพ” ในการใช้ทรัพยากร อันเนื่องมาจากการขาด “ความรับผิดชอบ” ของระบบการศึกษาต่อนักเรียนและผู้ปกครอง การปฏิรูปคุณภาพการศึกษาจึงควรเริ่มต้นด้วยการสร้างความรับผิดชอบของผู้จัดการศึกษาทั้งภาครัฐ โรงเรียนและครู
 
หากเรากลับไปพิจารณาจุดประสงค์ระยะยาวของการศึกษาอย่างละเอียดและลึกซึ้งแล้ว จะเห็นได้ว่าการประเมินผลการศึกษาโดยดูเฉพาะคะแนนของข้อสอบต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น อาจมิได้สะท้อนให้เห็นได้ถูกต้องเสมอไปว่าคุณภาพของการศึกษานั้นสูงหรือต่ำตามที่คะแนนสอบเสนอแนะ ทั้งนี้ เป็นเพราะจุดประสงค์ขั้นพื้นฐานของการศึกษา คือ เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ทันสมัยและสามารถนำความรู้เหล่านั้นไปใช้ประกอบอาชีพและช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าในด้านใดด้านหนึ่ง คะแนนสอบช่วยชี้แนะคุณภาพของการศึกษาในด้านเพิ่มความรู้ แต่มิได้ครอบคลุมประเด็นที่สำคัญว่าจะสามารถนำความรู้เหล่านั้นไปใช้ในการพัฒนาประเทศได้หรือไม่และอย่างไร การนำความรู้ไปใช้นี้นับได้ว่าเป็นโจทย์ที่สำคัญมาก และเป็นโจทย์ที่ต้องพึ่งทั้งวิจารณญาณประกอบกับศิลปะหรือจิตวิทยา (subjective) ไปพร้อมๆ กัน จึงค่อนข้างยากที่จะวัดคะแนนของความสามารถที่จะนำความรู้ไปใช้ ปัจจัยที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้มีอิทธิพลเป็นอันมากต่อการนำความรู้ไปใช้
 
(1) มนุษยสัมพันธ์ รวมถึงศิลปะของการแสดงออกและติดต่อสื่อสาร เพื่อสามารถโน้มน้าวจิตใจและการเข้าสังคมได้อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งทันต่อเหตุการณ์
 
(2) ความคิดริเริ่ม จากการสังเกตจุดอ่อนแต่แรกและหาช่องทางแก้ไขปรับปรุงในลำดับต่อไป
 
(3) กิริยามารยาท นุ่มนวลและสอดคล้องกับขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยที่ให้ความเคารพพร้อมทั้งสัมมาคารวะแก่ผู้อาวุโส
 
(4) กระตือรือร้นที่จะจัดวางระบบหรือขั้นตอนของงานให้มีระเบียบวินัยที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่งานได้
 
(5) มีพฤติกรรมที่นอกจากจะนิ่มนวลและสุภาพเรียบร้อยแล้ว ยังต้องแสดงให้เห็นชัดถึงมิตรภาพและอัธยาศัยที่ดีด้วย (ซึ่งรวมถึงสีหน้า แววตา น้ำเสียง และรอยยิ้ม)
 
(6) สามารถควบคุมตนเองได้อยู่เสมอ เพราะมีจิตสำนึกที่ “ทันปัจจุบัน” อยู่ตลอดเวลา
 
ในวงจรชีวิตของคนส่วนใหญ่ในประเทศ แทบทุกคนมักอยากมีงานทำพร้อมกับรายได้ที่พอเพียง นอกจากนั้น ยังต้องการการเติบโตของทั้งตำแหน่งงานและระดับเงินเดือนด้วย ดังนั้น รัฐจึงมักอุดหนุนการศึกษาทั้งในระดับประถม มัธยม และอาชีวศึกษา โดยนักศึกษาส่วนใหญ่ก็มักพยายามศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นถึงปริญญาตรี โท และเอก ทั้งนี้ เป็นเพราะผลการศึกษาในเชิงปรนัย (objective) ก็จะทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของตั๋วเพื่อเข้าทำงาน (หรือเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น) แต่หลังจากเข้าทำงานแล้ว บุคลากรเหล่านั้นจะเห็นถึงความสำคัญของปัจจัย 6 ประการที่กล่าวข้างต้นอย่างแน่นอน เพราะปัจจัยเหล่านั้น มีผลต่อความก้าวหน้าในชีวิตการทำงานมาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ข้าราชการของรัฐนั่นเอง นายแพทย์ ก. มีผลการศึกษาดีกว่านายแพทย์ ฮ. ในแทบทุกวิชา แต่นายแพทย์ ก. ด้อยกว่านายแพทย์ ฮ. ใน 6 ด้านที่กล่าวข้างต้น จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นนายแพทย์ ฮ. ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นอธิบดีหรือกระทั่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเหนือกว่าระดับของนายแพทย์ ก. อย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ยืนยันถึงความสำคัญของปัจจัย 6 ประการที่กล่าวข้างต้นว่าเป็นคุณสมบัติที่การปฏิรูปการศึกษาไม่ควรมองข้าม 
 
นอกจากนั้น การสร้างนิสัยเหล่านี้นักศึกษายิ่งมีอายุน้อยเท่าใดก็ยิ่งสร้างง่ายขึ้นเท่านั้น และนิสัยเหล่านั้นมักจะคงอยู่ต่อเนื่องไปในชีวิตทำงาน ฝ่ายผู้ปกครองก็ควรเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง (นอกเหนือจากฝ่ายโรงเรียน) ที่รัฐควรเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของปัจจัย 6 ประการนี้ เพราะผู้ปกครองเป็นฝ่ายที่ใกล้ชิดกับเด็กตั้งแต่เยาว์วัยและมีอิทธิพลต่อเด็กเป็นอันมาก โดยที่เด็กส่วนใหญ่มักดูพฤติกรรมของผู้ปกครองเป็นตัวอย่าง ดังนั้น ผู้ปกครองควรระมัดระวังตนเพื่อช่วยปลูกฝังนิสัยที่ดีเหล่านี้ให้แก่เด็กด้วย เป็นที่น่ายินดีที่ในปัจจุบันรัฐได้อนุญาตให้เอกชนจัดตั้ง “โรงเรียนทางเลือก” ที่ใช้วิธีการสอนแบบที่นักเรียนมีส่วนร่วมมากกว่าโรงเรียนแบบปกติ ตัวอย่างเช่น แบ่งแยกเป็นกลุ่มย่อยๆ มีปฏิกิริยาหรือมนุษยสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน โดยในขณะเดียวกัน นักเรียนใน “โรงเรียนทางเลือก” ก็ได้รับความรู้ครอบคลุมหลักสูตรปกติของรัฐด้วย ปรากฏว่าผู้สำเร็จการศึกษาจาก “โรงเรียนทางเลือก” ได้คำตอบรับที่ดีจากสถาบันการศึกษาขั้นสูง จึงช่วยยืนยันถึงคุณสมบัติ 6 ข้อที่กล่าวข้างต้น ว่า เป็นสิ่งที่รัฐไม่ควรมองข้ามในการปฏิรูปการศึกษาในประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น