บอร์ด สมศ.เคาะเกณฑ์ประเมินรอบสี่ “ชาญณรงค์” เผย ครู-บุคลากร-ผู้เรียนทุกคน ต้องอบรมเพิ่มพูนความรู้อย่างน้อย 50 ชั่วโมงต่อปี หวังพัฒนาการศึกษา เดินหน้านำร่องเม.ย.นี้ ก่อนใช้จริง 1 ต.ค.58

           
ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการบริหาร สมศ. ซึ่งมี ศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร สมศ. เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ และตัวบ่งชี้การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (ปีงบประมาณ 2559-2563) โดยจะใช้ตัวบ่งชี้สามมิติ ได้แก่ ตัวบ่งชี้พื้นฐาน อัตลักษณ์หรือเอกลักษณ์ และมาตรการส่งเสริมมาใช้ประเมิน ทั้งในด้านคุณภาพศิษย์ ครู อาจารย์ การบริหารและธรรมาภิบาลของสถานศึกษา และความสัมพันธ์กับชุมชน สังคม ซึ่งในเดือนเมษายน 2557  สมศ.จะนำร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปนำร่องกับสถานศึกษาทุกระดับทั่วประเทศ ประมาณ 300 แห่ง เพื่อนำข้อดีข้อเสียจากการประเมินฯมาปรับปรุงร่างหลักเกณฑ์ให้มีความสมบูรณ์ ก่อนจะประกาศให้สถานศึกษาทุกแห่งทราบทั่วกันในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เพื่อให้สถานศึกษาเตรียมความพร้อมล่วงหน้าก่อนเข้าประเมินฯ จริง ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม 2558
            ผอ.สมศ. กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมได้นำตัวบ่งชี้เรื่องการพัฒนาครู อาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุน และผู้เรียน มาหารือว่าควรต้องเพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์อย่างน้อยกี่ชั่วโมง เพราะจะนำมาใช้ประเมินฯเป็นครั้งแรก เพื่อให้ครู และบุคลากรฯ ทุกคน ได้เข้ารับการอบรม สัมมนา และเพิ่มพูนความรู้ต่างๆ ให้มีความทันสมัย รวมถึงผู้เรียนได้ทำกิจกรรมต่างๆ นอกหลักสูตร ซึ่ง สมศ.กำหนดไว้ที่ 80 ชั่วโมงต่อคนต่อปี แต่เมื่อนำไปประชาพิจารณ์พบว่า มีทั้งอยากให้เพิ่มมากกว่านี้ และอยากให้ลดลงกว่านี้ ดังนั้นที่ประชุมจึงได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ และมีมติว่าในช่วงเริ่มต้นควรกำหนดไว้ที่ 50 ชั่วโมงต่อคนต่อปี เฉลี่ยภาคเรียนละ 25 ชั่วโมง โดยหากคิดเป็นวันก็จะประมาณ 3-4 วันต่อภาคเรียนเท่านั้น ซึ่งจะไม่กระทบต่อการเรียนการสอนด้วย อย่างไรก็ตามตนมองว่าการส่งครู และบุคลากรฯ ไปอบรม หรือพัฒนาในเรื่องต่างๆ นอกจากครูจะได้รับประโยชน์แล้วผลก็จะตกไปอยู่ที่เด็กด้วย เพราะความรู้ต่างๆ ที่ครูได้รับจะสามารถนำมาช่วยพัฒนาการเรียนการสอนได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น